-
ฮิต: 27968
สธ.หนุนฝังเข็มรักษาโรคออกกฎคุมมาตรฐาน
สธ.ออกกฎหมายคุมมาตรฐานการแพทย์แผนจีน ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ มีผลบังคับใช้ 21 ต.ค.นี้ ขณะที่ผลวิจัยการันตีฝังเข็มช่วยลดริ้วรอยบนใบหน้า ร้อยละ 45 ผลรักษาฝ้าดีกว่าใช้ยา
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวก่อนเป็นประธานเปิดประชุมวิชาการการแพทย์ไทย-จีน ครั้งที่ 3 จัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ.และสำนักสาธารณสุขเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีนักวิชาการสาธารณสุข แพทย์ที่ให้บริการด้านการฝังเข็มจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ และแพทย์จีนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราวในประเทศไทย เข้าร่วมประชุมประมาณ 400 คน ว่า องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับศาสตร์การฝังเข็ม ว่า สามารถใช้รักษาโรคต่างๆ ที่มีผลงานวิจัยรองรับ 28 โรค เช่น อาการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดข้อ ไมเกรน ภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง
โดย สธ.มีนโยบายสนับสนุนการฝังเข็มมาใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนในการรักษาต่ำ ใช้เพียงเข็มและอุปกรณ์อื่นอีกเล็กน้อย สะดวก รักษาได้ทุกที่ และช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ขณะนี้มีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเปิดให้บริการฝังเข็มใน 50 จังหวัด มีแพทย์แผนปัจจุบันผ่านการอบรมรวมหลักสูตรการฝังเข็ม 3 เดือน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสธ.กับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ จำนวนกว่า 1,000 คน
“ขณะนี้ได้ออกกฎหมายกำหนดให้ การแพทย์แผนจีนเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะสาขาที่ 9 ตามพ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ซึ่งประกอบด้วย การนวดแผนจีน การฝังเข็มและการจับชีพจรและรักษาด้วยสมุนไพร หรือที่รู้จักกันว่าหมอแมะ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ผู้ที่ประกอบวิชาชีพทุกคนจะต้องมีความรู้และสอบใบประกอบโรคศิลปะตามหลักเกณฑ์ ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไทยมีทางเลือกในการดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย”นายมานิต กล่าว
ด้านนพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมี 3 ด้าน ได้แก่ 1.การตรวจชีพจรและใช้ยาสมุนไพรจีน 2.การฝังเข็ม 3.การนวดแผนจีนเพื่อรักษา จากการสำรวจความพึงพอใจที่หน่วยฝังเข็มของโรงพยาบาล ในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ พบว่า ผู้มารับบริการมีความพึงพอใจมาก และขณะนี้มีมหาวิทยาลัยที่เปิดคณะการแพทย์แผนจีนหลักสูตร 5 ปี 2 แห่ง คือ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ม.ราชภัฏจันทรเกษม และที่กำลังจะเปิดที่ ม.ราชภัฏเชียงราย และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่สนใจ เผยแพร่ทางเวบไซต์ของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย คาดว่า จะเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2553
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานเดียวกันมีการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “การศึกษาผลการรักษาริ้วรอยบนใบหน้าด้วยวิธีฝังเข็ม”โดยรศ.พญ.วัณณศรี สินธุภัค อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงจำนวน 30 คน อายุระหว่าง 35-60 ปี ที่มีริ้วรอยที่ตำแหน่งหางตา หน้าผาก และระหว่างคิ้ว โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มฝังเข็มและกระตุ้นด้วยไฟฟ้า 10 คน ฝังเข็มธรรมดา 10 คน และกลุ่มควบคุม 10 คน ทั้ง 30คน ได้รับครีมกันแดด SPF 40 ทาวันละหนึ่งครั้งในช่วงเช้า ทำการรักษาด้วยการฝังเข็ม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ นาน 5 สัปดาห์ โดยในสัปดาห์ที่ 5 ,8และ12 วัดผลโดยแพทย์ผิวหนัง 2 ท่าน
ผลวิจัยพบว่า ริ้วรอย 70 ตำแหน่ง ในกลุ่มฝังเข็มและกระตุ้นด้วยไฟฟ้ามีริ้วรอยดีขึ้นเท่ากับ ร้อยละ 45.8 กลุ่มฝังเข็มธรรมดีขึ้น ร้อยละ 42.9% โดยริ้วรอยบริเวณหน้าผากในกลุ่มฝังเข็มและกระตุ้นด้วยไฟฟ้าดีขึ้นที่สัปดาห์ที่ 8 ร้อยละ 33.3% และผู้ป่วยทุกคนพอใจกับผลการรักษา แต่หลังการฝังเข็มแต่ละครั้งผู้ป่วยบางคนมีอาการผิวหนังแดงเล็กน้อย และจุดเลือดออกบริเวณที่ฝัง ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วย 5 ใน 20 คน มีจ้ำเลือดหลังทำ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยร้อยละ 95 จะมีอาการเจ็บน้อยถึงปานกลางบริเวณที่ฝัง การศึกษาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า การฝังเข็มหน้าและกระตุ้นไฟฟ้าสามารถรักษาริ้วรอยรอบตาที่สัปดาห์ที่ 5 และบริเวณหน้าผากที่สัปดาห์ที่ 8ได้ดีขึ้นต่างกับกลุ่มควบคุมและไม่พบว่ามีผลข้างเคียงรุนแรงเกิดขึ้น
นอกจากนี้ พญ.สายชลี ทาบโลกา อาจารย์ประจำสำนักเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ม.แม่ฟ้าหลวง นำเสนผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาประสิทธิผลของการรักษาฝ้าด้วยการฝังเข็มเทียบกับการใช้ยาไฮโดรควิโนน 3%” ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม กลุ่มละ 28 คน โดยมีกลุ่มฝังเข็มและกลุ่มใช้ยาให้เลือกตามความสมัครใจของผู้ป่วย โดยกลุ่มฝังเข็ม ฝังเข็ม 2 ครั้งต่อสัปดาห์ กลุ่มใช้ยาทาวันละครั้งก่อนนอน และผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มได้รับยากันแดดชนิดเดียวกันและได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับปัจจัยกระตุ้นฝ้าเหมือนกัน ติดตามผลการรักษาสัปดาห์ที่ 2, 4, 6, 8, 10 และหลังหยุดการรักษาสัปดาห์ที่ 2, 4
ผลวิจัยพบว่า ค่าความเข้มของผิวและค่าความรุนแรงของฝ้าทั้ง 2 กลุ่ม ลดลงในทุกครั้งที่ประเมินเมื่อเทียบกับก่อนการรักษา เมื่อเปรียบเทียบค่าความรุนแรงของฝ้า พบว่า กลุ่มฝังเข็มน้อยกว่ากลุ่มใช้ยาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 ของการรักษา ส่วนค่าความเข้มสีผิว กลุ่มฝังเข็มน้อยกว่ากลุ่มใช้ยาตั้งแต่หยุดการรักษาสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งในการประเมินความพึงพอใจของการรักษาและความทนทานต่อการรักษา พบว่า ในกลุ่มฝังเข็มมีค่ามากกว่า ส่วนผลข้างเคียงในกลุ่มฝังเข็มน้อยกว่ากลุ่มใช้ยา นอกจากนี้ กลุ่มฝังเข็มสุขภาพด้านอื่นดีขึ้น การศึกษานี้สรุปได้ว่า การฝังเข็มเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาฝ้าที่มีประสิทธิผลดี ทำให้ฝ้าจางลง ผลการรักษายังคงอยู่นานกว่ากลุ่มใช้ยา ลดการเป็นซ้ำ ความพึงพอใจและความทนทานในการรักษาดีกว่าการใช้ยาไฮโดรควิโนน 3% ผลข้างเคียงน้อย