-
ฮิต: 75599
การประคบสมุนไพร
การประคบสมุนไพร คือ การใช้สมุนไพรหลายอย่างมาห่อรวมกัน ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยโดยนำมานึ่งให้ร้อน ประคบบริเวณที่ปวดหรือเคล็ดขัดยอกซึ่งน้ำมันหอมระเหยเมื่อถูกความร้อนจะระเหยออกมา ความร้อนจากลูกประคบจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น และยังมีสารสำคัญจากสมุนไพรบางชนิดที่ซึมเข้าทางผิวหนัง ช่วยรักษาอาการเคล็ด ขัด ยอก และลดปวดได้
ประโยชน์ของการประคบ
๑. บรรเทาอาการปวดเมื่อย
๒. ช่วยลดอาการบวม อักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ หลัง ๒๔-๔๘ ชั่วโมง
๓. ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
๔. ช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืดยืดตัวออก
๕. ลดการติดขัดของข้อต่อ
๖. ลดอาการปวด
๗. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
ตัวยาที่นิยมใช้ทำลูกประคบ
๑. ไพล แก้ปวดเมื่อย ลดการอักเสบ
๒. ผิวมะกรูด ถ้าไม่มีใช้ใบแทนได้ มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน
๓. ตะไคร้บ้าน แต่งกลิ่น
๔. ใบมะขาม แก้อาการคันตามร่างกาย ช่วยบำรุงผิว
๕. ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
๖. เกลือ ช่วยดูดความร้อน และช่วยพาตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้สะดวกขึ้น
๗. การบูร แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ
๘. ใบส้มป่อย ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน
วิธีการประคบ
๑. จัดท่าคนไข้ให้เหมาะสม เช่น นอนหงาย นั่ง นอนตะแคง ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จะทำการประคบสมุนไพร
๒. นำลูกประคบที่ได้รับความร้อนได้ที่แล้วมาประคบบริเวณที่ต้องการประคบ (การทดสอบความร้อนของลูกประคบคือแตะที่ท้องแขนหรือหลังมือ)
๓. ในการวางลูกประคบบนผิวหนังคนไข้โดยตรงในช่วงแรก ๆ ต้องทำด้วยความเร็ว ไม่วางแช่นาน ๆ เพราะคนไข้จะทนความร้อนไม่ได้มาก
๔. เมื่อลูกประคบคลายความร้อนลงก็สามารถเปลี่ยนลูกประคบอีกลูกหนึ่งแทน (นำลูกเดิมไปนึ่งต่อ) ทำซ้ำตามข้อ ๒, ๓
วิธีเก็บรักษาลูกประคบ
๑. ลูกประคบสมุนไพรที่ทำในแต่ละครั้ง สามารถเก็บไว้ใช้ซ้ำได้ ๓-๕ วัน
๒. ควรเก็บลูกประคบไว้ในตู้เย็น จะทำให้เก็บได้นานขึ้น (ควรตรวจสอบลูกประคบด้วย ถ้ามีกลิ่นบูดหรือเหม็นเปรี้ยวไม่ควรเก็บไว้)
๓. ถ้าลูกประคบแห้ง ก่อนใช้ควรพรมด้วยน้ำหรือเหล้าขาว
๔. ถ้าลูกประคบที่ใช้ไม่มีสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อนลง แสดงว่ายาที่ใช้จืดแล้ว (คุณภาพน้อยลง) จะใช้ไม่ได้ผลควรเปลี่ยนลูกประคบใหม่
๕. ลูกประคบ ๑ คู่ สามารถนำมาใช้ในการรักษาได้ ๓ ครั้ง
ข้อควรระวัง
๑. ห้ามใช้ลูกประคบที่ร้อนเกินไป โดยเฉพาะกับบริเวณผิวหนังอ่อน ๆ หรือบริเวณที่เคยเป็นแผลมาก่อน ถ้าต้องการใช้ควรมีผ้าขนหนูรองก่อนหรือรอจนกว่าลูกประคบจะคลายความร้อนลงจากเดิม
๒. ควรระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยเบาหวาน อัมพาต เด็ก และผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มบุคคลดังกล่าวความรู้สึกตอบสนองต่อความร้อนช้า อาจจะทำให้ผิวหนังไหม้พองได้ง่าย ถ้าต้องการใช้ควรจะ “ใช้ลูกประคบที่อุ่น ๆ”
๓. ไม่ควรใช้ลูกประคบสมุนไพรในกรณีที่มีแผล การอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ในช่วง ๒๔ ชั่วโมงแรก อาจจะทำให้บวมมากขึ้น
๔. หลังจากประคบสมุนไพรแล้ว ไม่ควรอาบน้ำทันทีเพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนัง และอุณหภูมิของร่างกายปรับเปลี่ยนไม่ทันอาจจะทำให้เป็นไข้ได้
ระยะเวลาในการบำบัด
ในการบำบัดขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง ควรบำบัดและรักษาเป็นชุดเพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรทำควบคู่กับการนวดหรือการฝังเข็ม ๑ ชุดการรักษา เท่ากับ ๑๐ ครั้ง
ค่าใช้จ่ายในการประคบสมุนไพร
นวดประคบ ๑ ชั่วโมง ๕๕๐ บาท
รายได้จากการรักษาพยาบาล
สมทบกองทุนโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ สำหรับ พระภิกษุ สามเณร ในพระราชูปถัมภ์ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อพระสงฆ์ สามเณรอาพาธ ร.พ.๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จังหวัดอุบลราชธานี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
ศูนย์พรหมวชิรญาณ คลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน สาขา วัดยานนาวา โทรศัพท์ ๐๒-๖๗๓๙๙๗๕-๗๖
สถาบันพรหมวชิรญาณ คลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน
www.promwachirayan.org