• ติดต่อสอบถามที่เบอร์
  • สาขา วัดยานนาวา 02-673-9975-6

การดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทย โดยแพทย์เวชกรรมแผนไทย

การดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดด้วยการแพทย์แผนไทย หมายถึง การส่งเสริม การฟื้นฟู การป้องกัน และการรักษาสุขภาพของหญิงในระยะหลังคลอด

๑. การดูแลหญิงหลังคลอดในปัจจุบัน

ความเชื่อเกี่ยวกับการดูแลหญิงหลังคลอดยังคงให้ความสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในระยะหลังนี้อาจจะปรับประยุกต์วิธีต่าง ๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ปัจจุบันการปฏิบัติตัวหลังคลอดนิยมทำกัน มีหลายวิธี โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อออกจากโรงพยาบาลกลับมาดูแลตนเองที่บ้าน หญิงหลังคลอดจะรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบที่เชื่อว่าจะช่วยขับน้ำนม ขับน้ำคาวปลา การอาบน้ำต้มสมุนไพรอุ่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายปรับสมดุลเกิดการกระตุ้นระบบขับถ่ายของเสียในร่างกาย การอบไอน้ำสมุนไพรโดยประยุกต์อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม เกิดความสะดวกสบาย เช่น ทำเป็นกระโจมผ้า หรือไปอบตามร้านเสริมสวย การบีบนวดส่วนต่าง ๆ ที่มีอาการปวดเมื่อย การรับประทานยาสมุนไพรเพื่อขับน้ำคาวปลา บำรุงเลือด บำรุงร่างกาย รวมถึงการดูแลผิวพรรณให้กลับมามีสภาพเหมือนก่อนตั้งครรภ์

การดูแลหลังคลอด ส่วนใหญ่จะจัดเป็นระยะตั้งแต่ ๓-๑๐ วัน มักเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับความงาม ร่างกายสู่สภาวะปกติ ลดไขมันหน้าท้อง ทำให้ผิวพรรณผ่องใส เป็นต้น

เสน่ห์ของการผดุงครรภ์ไทยอีกอย่างหนึ่งคือ การกล่อมท้อง ซึ่งจะทำในอายุครรภ์เดือนที่ ๗, ๘ เป็นการสร้างความสัมพันธ์แม่กับลูก การกลับตัวของเด็กและทำให้เด็กแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมที่จะคลอดออกมา

๒. การส่งเสริมการดูแลหญิงหลังคลอด

ปกติแล้วระยะหลังคลอด เมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ร่างกายจะมีการปรับตัวให้เข้าสู่สภาพปกติได้เอง โดยมดลูกจะมีขนาดเล็กลงเท่าก่อนตั้งครรภ์ท้องจะลดลง เมื่อรับประทานอาหารได้ตามปกติร่างกายจะเริ่มมี เรี่ยวแรง ผิวพรรณสดใส โดยต้องพักฟื้นและใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่จะยังคงทิ้งร่องรอยของการผ่านการตั้งครรภ์และการคลอดลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่พึงปรารถนา เช่น มีไขมันหน้าท้องมาก ผิวหน้าตกกระ ด่างดำ ผิวหนังบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบคล้ำ ผิวหนังหย่อนยาน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามหลังน่อง รวมถึงอาการที่อ่อนล้าไม่กระปรี้กระเปร่า บางรายเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งจะมีอาการหนาวสะท้าน เมื่อเจอลมฝน นานวันเข้ากลายเป็นคนสุขภาพไม่แข็งแรง มีโรคภัยไข้เจ็บคอยรบกวนอยู่บ่อย ๆ สิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดด้วยการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ประกอบกับมีความเชื่อตามวัฒนธรรมเดิมที่คนรุ่น แม่ ยาย ย่า บอกกล่าวว่าถ้าได้อยู่ไฟแล้วจะทำให้ร่างกายแข็งแรงและส่งผลดีต่อสุขภาพทุกอย่าง ดังนั้น หญิงหลังคลอดจึงต้องหาวิธีการฟื้นฟู
ร่างกายให้กลับเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็ว

๓. ขั้นตอนและวิธีการในการดูแลหญิงหลังคลอดของสถาบันพรหมวชิรญาณ คลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน

ขั้นตอนและวิธีการในการดูแลหญิงหลังคลอด
มี ๑๖ ขั้นตอน ดังนี้

๑. การตรวจร่างกาย
๒. การอยู่ไฟ
๓. การนาบไพล+นั่งอิฐ
๔. การทับหม้อเกลือ
๕. การประคบสมุนไพร
๖. การเข้ากระโจม
๗. การอบสมุนไพร
๘. การอาบสมุนไพร
๙. การนั่งถ่าน
๑๐. การนวดหลังคลอด
๑๑. การขัด
๑๒. การพอก
๑๓. การสลายไขมัน
๑๔. การล้างสารพิษ
๑๕. การทำสปา
๑๖. การฝังเข็ม

๔.ประโยชน์การดูแลสุขภาพของหญิงหลังคลอด

๔.๑ ทำให้มดลูกหดตัวได้ดี มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว ขับน้ำคาวปลาไหลได้ดี และมีน้ำนมมากขึ้น
๔.๒ ความร้อนจากตัวยาสมุนไพรจะกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญไขมันหน้าท้อง ทำให้หน้าท้องยุบเร็วขึ้น
๔.๓ ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ลดอาการติดขัดของ ข้อต่อและบรรเทาอาการบวมตึง
๔.๔ ทำให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น
๔.๕ ช่วยให้ฝีเย็บและช่องคลอดแห้งเร็ว
๔.๖ ช่วยลดอาการอักเสบ การติดเชื้อในช่องคลอด

๕. ข้อควรระวัง

๕.๑ ห้ามทำในหญิงหลังคลอดใหม่ ๆ ไม่ควรเข้ากระโจม เนื่องจากร่างกายอ่อนแอ ควรเว้นระยะออกไปประมาณ ๗ วัน หลังคลอดให้แน่ใจว่าร่างกายแข็งแรงพอเสียก่อน
๕.๒ ห้ามทำในหญิงที่รู้สึกอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร หรือหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ
๕.๓ ห้ามทำในหญิงที่มีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนและผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นโรคหอบหืด โรคลมชัก และโรคไต
๕.๔ ในรายที่คลอดโดยการผ่าตัดควรรอให้แผลแห้งหายสนิททิ้งระยะให้เกิน ๔๕ วันหลังคลอด หรือในรายที่คลอดปกติควรให้แผลฝีเย็บหายเป็นปกติ ไม่ต่ำกว่า ๗ วัน
๕.๕ ควรระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยเบาหวาน อาจทำให้ผิวหนังไหม้หรือพองได้ง่าย ควรใช้ลูกประคบอ่อน ๆ
๕.๖ ไม่ควรใช้ลูกประคบสมุนไพรในกรณีที่มีการอักเสบ ปวด บวม แดงร้อน ในช่วง ๒๔ ชั่วโมงแรก อาจทำให้บวมมากขึ้น
๕.๗ ไม่ควรอาบน้ำทันทีหลังประคบเสร็จ เพราะจะไปชะล้างตัวยาออกจากผิวหนัง และร่างกายปรับสมดุลไม่ทันทำให้เป็นไข้ได้

ระยะเวลาในการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอด

ขึ้นอยู่กับอาการและดุลพินิจของแพทย์ โดยทั่วไปแล้วการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอดจะทำเป็นคอร์ส ๆ ละ ๓, ๕ และ ๗ วัน

ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพหญิงหลังคลอด

คอร์สอยู่ไฟ ๓ วัน อัตราค่าบริการ ๘,๐๐๐ บาท
คอร์สอยู่ไฟ ๕ วัน อัตราค่าบริการ ๑๐,๐๐๐ บาท
คอร์สอยู่ไฟ ๗ วัน อัตราค่าบริการ ๑๒,๐๐๐ บาท

รายได้จากการรักษาพยาบาล

สมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อพระสงฆ์ สามเณรอาพาธ ร.พ.๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ
สมทบทุนโครงการจัดสร้างสถาบันวิจัยและพัฒนาสมุนไพร “เฉลิมพระเกียรติมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา”

ดาวน์โหลดไฟล์ pdf คลิกที่นี่

สปา หมายถึง การบำบัดดูแลสุขภาพแบบองค์รวมด้วยวิธีทางธรรมชาติที่ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบในการบำบัดควบคู่ไปกับการบำบัดด้วย วิธีทางการแพทย์ทางเลือกอื่น ๆ โดยใช้ศาสตร์สัมผัสทั้ง ๕ ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เป็นปัจจัยที่สร้างภาวะสมดุล ระหว่างร่างกาย จิตใจ และอารมณ์

The International Spa Association (ISPA) แบ่งสปาออกเป็น ๗ ประเภท สำหรับสถาบันพรหมวชิรญาณ เป็น สปาแบบ Medical Spa คือสปาที่ตั้งโดย พ.ร.บ. สถานพยาบาล โดยมีแพทย์ดูแลกำกับ มีวัตถุประสงค์เพื่อ บำบัดรักษาสุขภาพและความสวยงาม โปรแกรมการบริการประกอบด้วย กิจกรรมเพื่อสุขภาพ การนวดแบบไทย มีบริการทางการแพทย์ให้เลือก เช่น การแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนจีน มีโปรแกรมการนวดที่รักษาอาการเจ็บป่วย เช่น การนวดกดจุด การบำบัดด้วยสมุนไพร การปรับโครงสร้างร่างกาย การฝังเข็ม การลดน้ำหนัก ฯลฯ โดยจะมีแพทย์เป็นผู้พิจารณาจัดโปรแกรมให้ตามความเหมาะสมกับลักษณะสุขภาพบุคคลแต่ละคน

การใช้น้ำและอุณหภูมิเพื่อสุขภาพ
Hydrotherapy (วารีบำบัด) หมายถึง การบำบัดด้วยน้ำ โดยใช้การแช่น้ำร้อนสลับน้ำเย็น เพื่อบำบัดรักษาโรคหลายอย่าง เช่น เพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ และใช้น้ำบำบัดรักษากลุ่มอาการปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ ดีซ่าน และอัมพาต ต่อมาได้มีการพัฒนา เผยแพร่ความรู้เรื่อง Hydrotherapy สถานส่งเสริมสุขภาพเหล่านี้จึงนิยมเรียกกันว่า สปา (Spa)

รูปแบบของการใช้น้ำเพื่อสุขภาพ
วิธีการใช้น้ำเพื่อสุขภาพที่มีการปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้ มีดังนี้ :-
๑. การอาบแช่น้ำ (Bath)
การอาบแช่น้ำ (Bath) มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง การแช่น้ำที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกายนาน ๒๐-๓๐ นาที จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและสดชื่น
การแช่น้ำอุ่น ช่วยแก้อาการ นอนไม่หลับ และ ลดความเครียด
การแช่น้ำร้อน ช่วยให้ลดอาการปวดข้อ และช่วยการหายใจให้ดีขึ้น
การแช่น้ำเย็น ช่วยฟื้นฟูลดไข้ และกำจัดอาการเมื่อยล้า กระตุ้นให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ช่วยลดอาการบวมและการอักเสบ
๒. การนั่งแช่น้ำ (Hot SitzBath)
การนั่งแช่น้ำ เป็นวิธีที่ใช้สำหรับการบำบัดการติดเชื้อและอักเสบบริเวณทวารหนักและช่องคลอด เช่น ฝีคัณฑสูตร ริดสีดวงทวาร ลดอาการปวดและการติดเชื้อหายเร็ว และหญิงหลังคลอดบุตร
๓. การแช่เท้าในน้ำ (Foot Bath)
การแช่เท้าในน้ำที่มีอุณหภูมิประมาณ ๓๖-๓๘ องศาเซลเซียส นาน ๑๐-๑๕ นาที สลับกับน้ำเย็นอุณหภูมิประมาณ ๑๒ องศาเซลเซียส จะช่วยลดอาการเท้าบวมได้ดี ตามทฤษฎีการแพทย์ทางเลือกในสาขา Reflexology เชื่อว่าบริเวณเท้ามีจุดสัมผัสซึ่งสัมพันธ์กับการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และใช้การนวดเท้าเพื่อบำบัดรักษาอาการต่าง ๆ ดังนั้นจึงเชื่อว่าการแช่เท้าในน้ำร้อนหรือน้ำเย็นจะกระตุ้นจุดสัมผัสเหล่านี้ด้วยพลังงานความร้อนซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในของร่างกายด้วย ทฤษฎี Reflexology ตรงกับการศึกษาของ นายแพทย์วิลเลียม วินเทอร์วิตซ์ ชาวออสเตรีย ศึกษาพบว่าที่ประสาทรับสัมผัสที่ผิวหนังมีวงจรประสาทเชื่อมกับกล้ามเนื้อ ต่อม ไร้ท่อ และอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และเมื่อน้ำร้อนหรือเย็นสัมผัสกับผิวหนังก็จะมีสัญญาณวิ่งตามวงจรเหล่านี้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และทำให้เกิดการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะที่อยู่ห่างไกลได้

ระยะเวลาในการบำบัด
ในการบำบัดขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง ควรบำบัดและรักษาเป็นชุดหรือตามโปรแกรมที่ทางสถาบันพรหมวชิรญาณได้กำหนดไว้

ค่าใช้จ่ายสปาเพื่อสุขภาพ
สปาตัว ราคา 700 บาท / 60 นาที
สปามือ ราคา 500 บาท / 60 นาที
สปาเท้า ราคา 500 บาท / 60 นาที
สปาหน้า ราคา 700 บาท / 60 นาที

รายได้จากการรักษาพยาบาล
สมทบกองทุนโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ สำหรับ พระภิกษุ สามเณร ในพระราชูปถัมภ์ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อพระสงฆ์ สามเณรอาพาธ ร.พ.๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จังหวัดอุบลราชธานี

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
ศูนย์พรหมวชิรญาณ คลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน
สาขา วัดยานนาวา โทรศัพท์ ๐๒-๖๗๓๙๙๗๕-๗๖
www.promwachirayan.org

เรื่องราวน่าสนใจ

มาตราการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙)

...

  กรณีสถาบันพรหมวชิรญาณ สหคลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน   ป้องกันไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ...

รางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม

รางวัลเสาอโศกผู้นำศีลธรรม

 เป็นรางวัลเกียรติยศที่มอบให้แก่บุคคล ...