-
ฮิต: 138614
การอบสมุนไพร เป็นวิธีการบำบัดรักษาและส่งเสริมสุขภาพ ตามหลักของการแพทย์แผนไทย โดยใช้หลักการอบสมุนไพร คือ ต้มสมุนไพรหลาย ๆ ชนิดรวมกัน ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหยและสมุนไพรรักษาตามอาการ สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวนำมาต้มจนเดือด ไอน้ำ น้ำมันหอมระเหย และสารระเหยต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในสมุนไพรจะออกสัมผัสถูกผิวหนังทำให้มีผลเฉพาะที่ และสูดดมเข้าไปกับลมหายใจ มีผลต่อระบบทางเดินหายใจและผลทั่วร่างกาย ดังนั้นผลการรักษาด้วยการอบสมุนไพรที่ซึมผ่านผิวหนัง และเข้าไปกับลมหายใจซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังนี้
ประโยชน์การอบสมุนไพร
๑. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตในร่างกายดีขึ้น คลายความตึงเครียด
๒. ช่วยชำระล้างและขับของเสียออกจากร่างกาย
๓. ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบรรเทาอาการปวดเมื่อย
๔. ช่วยทำให้ระบบการหายใจดีขึ้น
๕. ช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการผดผื่นคัน
๖. ช่วยให้น้ำหนักร่างกายลดลงได้ชั่วคราว
๗. ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วในหญิงหลังคลอด
๘. ช่วยให้สบายตัว ลดอาการปวดศีรษะ
สมุนไพรที่ใช้ในการอบสมุนไพร
การใช้สมุนไพร อาจใช้สมุนไพรสดหรือสมุนไพรแห้ง ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการหาได้ในแต่ละท้องถิ่น แต่สมุนไพรสดจะมีคุณภาพดีกว่าสมุนไพรแห้ง เพราะคุณภาพสมุนไพรสดจะลดน้อยลงขณะทำให้แห้ง การซื้อสมุนไพรแห้งอาจเก่าและเสื่อมคุณภาพได้
การใช้สมุนไพรสดมักไม่จำกัดชนิด อาจเพิ่มหรือลดชนิดตามความต้องการในการใช้ประโยชน์ และยากง่ายในการจัดหา แต่ถือหลักว่าควรมีสมุนไพรครบทั้ง ๔ กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ ๑ สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม กลุ่มนี้มีสาระสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งช่วยรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคผิวหนัง ปวดเมื่อย หวัด คัดจมูก ตัวอย่างเช่น ไพล ขมิ้นชัน ตะไคร้ มะกรูด การใช้สมุนไพรสดควรเปลี่ยนถ่ายทุกวัน มิฉะนั้นอาจเน่าเกิดกลิ่นเหม็น แต่สมุนไพรแห้งอาจใช้ต่อเนื่องได้ ๓-๕ วัน
กลุ่มที่ ๒ สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว กลุ่มนี้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งช่วยชะล้างสิ่งสกปรก และเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง ตัวอย่างเช่น ใบมะขาม และฝักส้มป่อย
กลุ่มที่ ๓ เป็นสารประกอบที่ระเหิดได้เมื่อถูกความร้อนและมีกลิ่นหอม เช่น การบูร พิมเสน
กลุ่มที่ ๔ สมุนไพรที่ใช้รักษาเฉพาะโรค เช่น ต้องการรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน ใช้เหงือกปลาหมอ เป็นต้น
ขั้นตอนในการให้บริการอบไอน้ำสมุนไพร
๑. ให้ผู้รับบริการอาบน้ำ เพื่อชำระสิ่งสกปรกที่อาจติดอยู่ตามรูขุมขน และเพื่อเป็นการเตรียมเส้นเลือดให้พร้อมต่อการยืดขยายและหดตัว แล้วแต่งกายด้วยเสื้อผ้าให้
น้อยชิ้น
๒. ให้ผู้รับบริการเข้าอบตัวในห้องอบสมุนไพร ซึ่งมีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระหว่าง ๔๒-๔๕ องศา ใช้เวลาในอบรวม ๓๐ นาที โดยอบ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๑๕ นาที และออกมานั่งพัก ๓-๕ นาที หลังการอบครั้งแรก ควรดื่มน้ำทดแทนแต่ไม่ควรเป็นน้ำเย็นจัด ในรายที่ไม่คุ้นเคยกับการอบอาจใช้อบนาน ๑๐ นาที ๓ ครั้ง
๓. หลังการอบครบตามเวลา ไม่ควรอาบน้ำทันที ให้นั่งพัก ๓-๕ นาที หรือรอจนเหงื่อแห้งแล้วจึงอาบน้ำอีกครั้ง เพื่อชำระคราบเหงื่อไคลและสมุนไพรออกจากร่างกายและช่วยให้เส้นเลือดหดตัวเป็นปกติ
๔. การนัดหมายให้มารับบริการอบ อย่างน้อย ๑-๒ ครั้ง/สัปดาห์ หรือ วันเว้นวัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละราย
๕. ประเมินผลการรักษา
- ประเมินผลจากการตรวจร่างกาย โดยการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต และซักประวัติอาการของผู้ป่วยว่าดีขึ้นหรือไม่อย่างไร
- บันทึกประวัติการเจ็บป่วยโดยสังเขปและการบำบัดรักษาไว้ที่บัตรประจำตัวผู้ป่วย (OPD Card) ทุกครั้ง และทุกราย เพื่อประโยชน์ในการรักษาต่อเนื่องต่อไป
โรคหรืออาการที่สามารถบำบัดรักษาด้วยการอบสมุนไพร
๑. โรคภูมิแพ้
๒. โรคหอบหืด ในระยะที่ไม่มีอาการรุนแรง
๓. เป็นหวัด น้ำมูกไหลแต่ไม่มีการแห้งตันของน้ำมูก
๔. โรคที่ไม่ได้เป็นการเจ็บป่วยเฉพาะที่ หรือเป็นเฉพาะที่ แต่มีหลายตำแหน่ง เช่น อัมพาต ปวดเมื่อยตามร่างกาย
๕. โรคหรืออาการบางอย่าง เช่น ยอก โรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์ อาจต้องใช้การอบสมุนไพรร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เช่น หัตถเวชกรรม ประคบสมุนไพร และการฝังเข็ม เป็นต้น
ข้อห้ามสำหรับการอบสมุนไพร
๑. ขณะมีไข้สูง (มากกว่า ๓๘ องศาเซลเซียส) เพราะอาจมีการติดเชื้อโรคต่าง ๆ
๒. โรคติดต่อร้ายแรงทุกชนิด
๓. มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหอบหืด ระยะรุนแรง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง ในรายที่มีความดันโลหิตสูงไม่เกิน ๑๘๐ มิลลิเมตรปรอท อาจให้อบได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ แต่ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
๔. สตรีขณะมีประจำเดือนร่วมกับอาการมีไข้ และปวดศีรษะร่วมด้วย
๕. มีการอักเสบจากบาดแผลต่าง ๆ
๖. อ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร หรือหลังรับประทานอาหารใหม่ ๆ
๗. ปวดศีรษะชนิดเวียนศีรษะ คลื่นไส้
ระยะเวลาในการบำบัด
ในการบำบัดขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง ควรบำบัดและรักษาเป็นชุดเพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรทำควบคู่กับการนวดหรือการฝังเข็ม
๑ ชุดการรักษา เท่ากับ ๑๐ ครั้ง
ค่าใช้จ่ายในการอบสมุนไพร
อบสมุนไพร ๑ ครั้ง ๓๕๐ บาท
รายได้จากการรักษาพยาบาล
สมทบกองทุนโครงการหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ สำหรับ พระภิกษุ สามเณร ในพระราชูปถัมภ์ฯ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
สมทบทุนจัดซื้ออุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อพระสงฆ์ สามเณรอาพาธ ร.พ.๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ จังหวัดอุบลราชธานี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
ศูนย์พรหมวชิรญาณ คลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน
สาขา วัดยานนาวา โทรศัพท์ ๐๒-๖๗๓๙๙๗๕-๗๖
สถาบันพรหมวชิรญาณ คลินิกการแพทย์แผนไทย-จีน
www.promwachirayan.org